ที่มาของโครงการ

ที่มาของโครงการ

จังหวัดนครปฐมมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเวลามากกว่าร้อยปีแล้ว เช่น ไทยยวน ไทยดำ พวน ลาวเวียง ลาวครั่ง กลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็มีวัฒนธรรมด้านภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ในปี 2563 อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงพื้นที่ศึกษาภาษาไทยยวนที่บ้านท่าเสา ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในครั้งนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านได้ให้ข้อมูลว่าประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นชาวไทยยวน และยังมีเอกสารโบราณของชาวไทยยวนเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าเสาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ ดร.ยุทธพรและคณะจึงเดินทางไปสำรวจและพบเอกสารประเภทใบลานที่บันทึกด้วยอักษรโบราณถึง 5 ชนิด ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมลาว อักษรขอมไทย อักษรไทย และอักษรไทยน้อย โดยพบอักษรธรรมล้านนมากที่สุด แต่ปัจจุบันคนในหมู่บ้านไม่มีใครอ่านได้แล้ว เอกสารดังกล่าวจึงถูกเก็บไว้บนหลังตู้เก็บของมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

ในปี 2564 อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุขได้เริ่มดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณของชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง เพื่อทำการอนุรักษ์เอกสารโบราณของวัดท่าเสาดังกล่าวข้างต้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากเงินรายได้สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2564 โครงการนี้ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย 2 หน่วยงาน คือ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

โครงการนี้มีการวางแผนให้เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน เนื่องจากต้องการให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเอกสารโบราณที่มีอยู่ และร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของตน วัตถุประสงค์ของโครงการมี 3 ประการ คือ

  1. ให้ความรู้เกี่ยวกับอักษรโบราณของชุมชน
  2. อนุรักษ์เอกสารโบราณร่วมกับชุมชน
  3. จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติชุมชน ภาษาไทยยวน และวรรณกรรมไทยยวน

ต่อมาในปี 2565-2566 โครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลให้ดำเนินโครงการร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับนโยบายจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าควรคำนึงถึงความยั่งยืนและความทั่วถึงของโครงการด้วย อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุขหัวหน้าโครงการจึงกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเพิ่มขึ้น คือ นอกจากจะอนุรักษ์เอกสารโบราณเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังต้องจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลของเอกสารโบราณเหล่านั้นด้วย จึงเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลางเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และได้ขยายขอบเขตการอนุรักษ์เอกสารโบราณไปยังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ นอกเหนือจากชาติพันธุ์ไทยยวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

ปัจจุบันโครงการนี้ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4 หน่วยงาน ดังนี้

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

  • อาจารย์พอพล สุกใส
  • อาจารย์ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์
  • อาจารย์อาภาโสม ฉายแสงจันทร์
  • อาจารย์ ดร.จตุพร โคตรกนก
  • อาจารย์ ดร.ชัชพิสิฐ ปาชะนี

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

  • อาจารย์ดอกรัก พยัคศรี

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

  • อาจารย์ ดร.ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปุณย์จรีย์ สรสีสม

ฐานข้อมูลนี้เป็นพันธกิจอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Engagement) มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานพันธกิจที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริงกับชุมชนหรือสังคมในพื้นที่โดยรอบ ด้วยการการทำงานร่วมกับภาคีในพื้นที่ในลักษณะเชิงสถาบัน ที่เป็นหุ้นส่วนระยะยาว (long-term partnership) อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมดั่งปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า ความสําเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ

ฐานข้อมูลนี้มุ่งหวังบริการให้แก่คนในชุมชนและผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นและดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะนี้ข้อมูลในฐานข้อมูลยังมีข้อมูลจำนวนไม่มากนัก เพราะเพิ่งเริ่มต้นโครงการ ในอนาคตผู้ดำเนินโครงการมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงฐานข้อมูลให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และครอบคลุมเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคกลางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้