เอกสารโบราณ
เอกสารโบราณ
เอกสารโบราณ หมายถึง เอกสารตัวเขียนที่คนในสมัยโบราณบันทึกภูมิปัญญาต่างๆ ไว้ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ เอกสารโบราณแบ่งตามวัสดุที่ใช้บันทึกได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ จารึก คัมภีร์ใบลาน และสมุดไทย จารึก หมายถึง เอกสารที่มีการสลักหรือจารตัวอักษรลงบนวัสดุเนื้อแข็ง เช่น แผ่นหิน แผ่นทอง แผ่นทองแดง ฯลฯ คัมภีร์ใบลาน หมายถึง เอกสารที่มีการจารตัวอักษรลงบนใบลานและร้อยเข้าด้วยกันเป็นผูก ส่วนสมุดไทย หมายถึง เอกสารประเภทกระดาษที่ทำเป็นเล่มรูปแบบต่าง ๆ โดยมากนิยมนำมาพับทบกลับไปกลับมา กระดาษที่ใช้ทำสมุดไทยทำมาจากเปลือกของต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ต้นข่อย ต้นปอสา ย่านกฤษณา นอกจากนี้ยังพบการบันทึกตัวอักษรลงในวัสดุอื่นๆ ด้วย เช่น ผืนผ้าหรือหนังสัตว์ แต่ในประเทศไทยพบจำนวนไม่มากนัก
เอกสารโบราณถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ทรงคุณค่า สมควรที่จะรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป อย่างไรก็ดี เอกสารโบราณก็มีอายุการใช้งานจำกัดเพราะเป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น จารึกอาจเกินการแตกหักหรือผุกร่อนไป ส่วนคัมภีร์ใบลานและสมุดไทยก็อาจถูกแมลงกัดกินทำลายหรือเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนและชื้น ถึงแม้จะเก็บรักษาไว้อย่างดี แต่สุดท้ายก็จะเสื่อมสลายไปในที่สุด วิธีการอนุรักษ์เอกสารโบราณที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการทำสำเนาดิจิทัล แม้ว่าเอกสารต้นฉบับจะเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายไป แต่สำเนาดิจิทัลที่ทำเก็บไว้ก็จะยังคงใช้ได้ต่อไปนับร้อย ๆ ปี
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวิธีอนุรักษ์เอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลานเพียงประเภทเดียว เพราะเป็นเอกสารที่พบมากที่สุด การทำสำเนาดิจิทัลคัมภีร์ใบลานมีขั้นตอนดังนี้
๑. การทำความสะอาด
คัมภีร์ใบลานที่เก็บไว้นานๆ จะมีฝุ่นและคราบสกปรกต่าง ๆ จับอยู่ตามพื้นผิวของใบลาน จะต้องทำความสะอาดก่อนเป็นอันดับแรก โดยใช้แปรงขนนุ่มปัดไปในทิศทางเดียว หากปัดกลับไปกลับมาจะทำให้ใบลานหักได้ เมื่อกำจัดฝุ่นออกจากใบลานทุกแผ่นแล้วก็จะใช้น้ำเปล่าหรือแอลกอฮอล์เช็ดอีกครั้ง วิธีเช็ดก็กระทำเช่นเดียวกับการปัดฝุ่น คือ เช็ดไปในทิศทางเดียวกันเสมอ
![image1 image1](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image1-r0x699kwo11ahcyb1fodbx6voso7b13k8cbo5vucmc.jpg)
![image2 image2](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image2-r0x69f7xt190f0q44i44qvrn93wel7py948l1jlzl0.jpg)
๒. การทำทะเบียน
การทำทะเบียนเป็นขั้นตอนบันทึกรายละเอียดของคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกลงในแบบบันทึกที่ได้ออกแบบไว้ รายละเอียดหลัก ๆ ที่ต้องบันทึก เช่น รหัสของเอกสาร แหล่งที่พบเอกสาร สภาพเบื้องต้น หมวดและหมู่เอกสาร ชื่อเรื่อง ศักราช คำประพันธ์ อักษรและภาษาที่ใช้บันทึก เส้นตัวอักษร จำนวนหน้า จำนวนบรรทัดต่อหน้า ขนาดของเอกสาร ชื่อผู้บันทึก และวันเดือนปีที่บันทึกข้อมูล
![image3 image3](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image3-r0x6evo7hepxtisr9d15q06zen049yduo4l2cdipg0.jpg)
![image4 image4](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image4-r0x6f1b8mexnr6kkcfgx4yrqyy8bk508owhz81acf8.jpg)
๓. การทำสำเนาดิจิทัล
เมื่อทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปเป็นการนำคัมภีร์ใบลานไปถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูปดิจิทัลที่ตั้งค่าความละเอียดของภาพในระดับสูง เรียกกระบวนการนี้ว่า “การทำสำเนาดิจิทัล” การถ่ายภาพจะถ่ายป้ายที่ระบุรหัสและชื่อเอกสารก่อน จากนั้นจึงถ่ายใบลานตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้ายของคัมภีร์แต่ละผูก โดยปกติแล้วคัมภีร์ใบลานจะมีด้ายร้อยใบลานแต่ละแผ่นให้รวมกันเป็นผูกเรียกว่า “สายสนอง” ในการทำสำเนาดิจิทัลจะต้องแก้เอาสายสนองออกก่อนเพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพ สำหรับพื้นหลังจะใช้พื้นสีใดก็ได้ โดยมากมักใช้สีขาว สีดำ สีฟ้า หรือสีเขียว
![image5 image5](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image5-r0x6yqzdybx58rxq8g88xhorgv2fzm9l2h1kjy23xq.jpg)
![image6 image6](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image6-r0x6yuqqpo2aj7s9mhur7gqluejwueoieznih1wj8u.jpg)
๔. การซ่อมแซมและการจัดเก็บ
คัมภีร์ใบลานที่ผ่านการทำสำเนาดิจิทัลแล้วจะถูกนำมาร้อยสายสนองให้อยู่ในสภาพเดิม หากสายสนองเก่ามากก็จะมีการเปลี่ยนให้ใหม่ หรือหากพบว่าใบลานชำรุดเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มีรอยฉีก ก็จะทำการซ่อมแซมก่อน จากนั้นจึงห่อคัมภีร์ใบลานด้วยผ้าขาวดิบหรือผ้าที่ปลอดสารเคมีทีละผูกหรือทีละชุด เพื่อป้องกันฝุ่นและแมลง เมื่อห่อเสร็จแล้วจึงผูกป้ายที่ระบุรหัสและชื่อเอกสารเพื่อความสะดวกในการค้นหาในภายหลัง
![image7 image7](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image7-r0x72atfrss53qs1hzhiclfg99kd2gd2w1rltkskfi.jpg)
![image8 image8](https://ancientdoc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/elementor/thumbs/image8-r0x72j9zhb5887e446n62v94mfasvc1asy78ieqna2.jpg)
การทำสำเนาดิจิทัลนับเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการอนุรักษ์เอกสารโบราณอันเป็นมรดกภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาติ ช่วยยืดอายุของเอกสารต้นฉบับให้ยาวนานขึ้น กล่าวคือ ไม่ต้องหยิบจับบ่อยๆ เพราะสามารถอ่านจากสำเนาได้โดยไม่มีข้อจำกัด และถึงแม้ต้นฉบับจะสูญสลายหรือเสียหายไป สำเนาดิจิทัลนี้ก็ยังจะคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน