ที่มาของโครงการ

ที่มาของโครงการ

ภาคกลางของประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ที่พูดภาษาตระกูลไท เช่น ไทยยวน ไทยดำ พวน ลาวเวียง ลาวครั่ง ฯลฯ ชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ปัจจุบันสถานการณ์ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคกลางกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษาของตนได้แล้ว เพราะถูกแทรกแซงโดยภาษาไทยภาคกลางและภาษาไทยมาตรฐานซึ่งเป็นภาษาของคนกลุ่มใหญ่ ผ่านสื่อสารมวลชน ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต สิ่งที่วิกฤตยิ่งไปกว่าภาษาพูด คือ ภาษาเขียน เพราะกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถอ่านอักษรดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยใช้มาในอดีตได้แล้ว เหลือแต่เพียงเอกสารโบราณที่เก็บไว้ตามวัด เอกสารเหล่านี้ขาดการดูแลและสุ่มเสี่ยงต่อการชำรุดสูญหาย จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน

โครงการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลางเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ได้รับทุนสนับสนุนจากเงินรายได้สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย 4 หน่วยงาน ได้แก่ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วัตถุประสงค์ของโครงการมี 3 ข้อ ดังนี้

  1. อนุรักษ์เอกสารโบราณด้วยการทำสำเนาดิจิทัล
  2. นำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเผยแพร่ในฐานข้อมูลที่จัดทำไว้
  3. พิมพ์หนังสือประวัติชุมชนและเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารโบราณที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์ไปแล้ว

โครงการนี้ได้ตอบโจทย์ SDG เป้าหมายที่ 4 คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Engagement) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวด้วยการทำงานร่วมกับภาคีในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริงกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้เพื่อให้สมดั่งปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่า ความสําเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ นั่นเอง