ฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณ

ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลาง

ค้นหาข้อมูลเอกสารโบราณ

การทำความสะอาด

คัมภีร์ใบลานที่เก็บไว้นานๆ จะมีฝุ่นและคราบสกปรกต่าง ๆ จับอยู่ตามพื้นผิวของใบลาน จะต้องทำความสะอาดก่อนเป็นอันดับแรก โดยใช้แปรงขนนุ่มปัดไปในทิศทางเดียว หากปัดกลับไปกลับมาจะทำให้ใบลานหักได้ เมื่อกำจัดฝุ่นออกจากใบลานทุกแผ่นแล้วก็จะใช้น้ำเปล่าหรือแอลกอฮอล์เช็ดอีกครั้ง วิธีเช็ดก็กระทำเช่นเดียวกับการปัดฝุ่น คือ เช็ดไปในทิศทางเดียวกันเสมอ

การทำทะเบียน

การทำทะเบียนเป็นขั้นตอนบันทึกรายละเอียดของคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกลงในแบบบันทึกที่ได้ออกแบบไว้ รายละเอียดหลัก ๆ ที่ต้องบันทึก เช่น รหัสของเอกสาร แหล่งที่พบเอกสาร สภาพเบื้องต้น หมวดและหมู่เอกสาร ชื่อเรื่อง ศักราช คำประพันธ์ อักษรและภาษาที่ใช้บันทึก เส้นตัวอักษร จำนวนหน้า จำนวนบรรทัดต่อหน้า ขนาดของเอกสาร ชื่อผู้บันทึก และวันเดือนปีที่บันทึกข้อมูล

การซ่อมแซมและจัดเก็บ

คัมภีร์ใบลานที่ผ่านการทำสำเนาดิจิทัลแล้วจะถูกนำมาร้อยสายสนองให้อยู่ในสภาพเดิม หากสายสนองเก่ามากก็จะมีการเปลี่ยนให้ใหม่ หรือหากพบว่าใบลานชำรุดเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มีรอยฉีก ก็จะทำการซ่อมแซมก่อน จากนั้นจึงห่อคัมภีร์ใบลานด้วยผ้าขาวดิบหรือผ้าที่ปลอดสารเคมีทีละผูกหรือทีละชุด เพื่อป้องกันฝุ่นและแมลง เมื่อห่อเสร็จแล้วจึงผูกป้ายที่ระบุรหัสและชื่อเอกสารเพื่อความสะดวกในการค้นหาในภายหลัง



การทำสำเนาดิจิตอล

เมื่อทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปเป็นการนำคัมภีร์ใบลานไปถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูปดิจิทัลที่ตั้งค่าความละเอียดของภาพในระดับสูง เรียกกระบวนการนี้ว่า “การทำสำเนาดิจิทัล” การถ่ายภาพจะถ่ายป้ายที่ระบุรหัสและชื่อเอกสารก่อน จากนั้นจึงถ่ายใบลานตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้ายของคัมภีร์แต่ละผูก โดยปกติแล้วคัมภีร์ใบลานจะมีด้ายร้อยใบลานแต่ละแผ่นให้รวมกันเป็นผูกเรียกว่า “สายสนอง” ในการทำสำเนาดิจิทัลจะต้องแก้เอาสายสนองออกก่อนเพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพ สำหรับพื้นหลังจะใช้พื้นสีใดก็ได้ โดยมากมักใช้สีขาว สีดำ สีฟ้า หรือสีเขียว